Advertisement
Leaderboard 728x90

นายกฯ ประชุม ครม.เศรษฐกิจครั้งที่ 2/67 ตั้งเป้าดัน GDP ปี’67 ขยายตัว 3%

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 2/2567 ร่วมกับนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และผู้ที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า นายกฯ ได้ย้ำถึงการประชุมครั้งนี้เป็นการติดตามงานต่อเนื่องจากการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา (27 พ.ค. 67) ในการติดตามประเด็นภาวะเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จากนั้นที่ประชุมและนายกฯ ได้รับทราบรายงานถึงประเด็นสำคัญต่าง ๆ เช่น การกำหนดเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจปี 2567 ซึ่งข้อมูลล่าสุดของกรมบัญชีกลาง รายจ่ายลงทุน ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณจนถึงวันที่ 7 มิถุนายน 2567 มีอัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 38.6 แต่ถ้ารวมการก่อหนี้ผูกพันด้วยจะมีอัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 50.1 โดยสิ่งที่ต้องเร่งรัดมี 4 ส่วน ได้แก่ 1) เร่งทำ PO หรือก่อหนี้ผูกพัน 2) เร่งเบิกจ่ายให้ได้ตามคาดการณ์ที่ร้อยละ 70 เท่านั้นยังไม่พอ จำเป็นต้องทำอีก 2 ส่วนเพื่อให้เศรษฐกิจดีขึ้นอีก ได้แก่ 3) เร่งให้ได้ตามเป้าร้อยละ 75 และ 4) เร่งเบิกจ่ายส่วนที่เหลือในไตรมาสที่ 4 ปีปฏิทิน ดังนั้น ต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนให้ถึงเป้า รวมทั้งได้รับทราบถึงการตั้งเป้าการเติบโตของเศรษฐกิจที่ร้อยละ 3.0 ทั้งนี้ ในปี 2567 กระทรวงการคลังประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไว้ที่ร้อยละ 2.4  โดย Key Driver ในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ การลงทุนภาครัฐ การส่งออกบริการ และการลงทุนภาคเอกชน

Advertisement
อ่าวขนอม ซีฟู้ด

ภายหลังการประชุมฯ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงถึงผลการประชุมสรุป ดังนี้

รองนายกฯ และ รมว.กค. ได้ย้ำว่าเศรษฐกิจประเทศไทยยังมีปัญหา โดย GDP เติบโตค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าหรือเพื่อนบ้าน จึงร่วมกันมาหาแนวทางที่จะดำเนินการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย ทั้งนี้ในปี 2567 ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการแถลงเรื่อง GDP ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไตรมาส 1/2567 ขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 1.7 ในไตรมาส 4/2566 และคาดว่าทั้งปีจะอยู่ที่ 2.5 แต่ในส่วนของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไว้ที่ร้อยละ 2.4 ซึ่งขณะนี้ก็ต้องหาแนวทางในการดำเนินการในปีนี้ก่อนรวมทั้งการที่จะหาแนวทางใน 4 ปีข้างหน้าที่จะทำให้เติบโตขึ้นได้อย่างไร โดยระยะยาวทางที่เราจะรอดได้คือ  GDP ต้องขึ้นไปอยู่ที่ 5% โดยปีนี้ได้มีการตั้งมาตรการเบื้องต้นไว้ก่อนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ร้อยละ 2.4 เป็นเป้าการเติบโตของเศรษฐกิจไว้ที่ร้อยละ 3 ภายในปีนี้ โดยจะมีการดำเนินการผ่านมาตรการต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น 1) มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยเพิ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 1 ล้านคน จาก 35.7 ล้านคน เพิ่มเป็น 36.7 ล้านคน ภายในสิ้นปี 2567 ซึ่งการดำเนินการสำคัญคือการทำให้นักท่องเที่ยวอยู่ในพื้นที่ได้นานขึ้นเพื่อเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ 2) มาตรการเร่งรัดการลงทุนภาครัฐ เร่งการเบิกจ่ายจากร้อยละ 64 เป็น ร้อยละ 70 (เป้าหมายการเบิกจ่ายที่ 75%) ในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณ (มิถุนายน – กันยายน) รายจ่ายลงทุน 8.5 แสนล้านบาท โดยในวันที่ 12 มิถุนายนนี้ จะถึงนี้จะมีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่มีการเบิกจ่ายงบลงทุนต่ำกว่าเป้า เพื่อเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามแผน และ 3) มาตรการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน เร่งรัดให้นักลงทุนที่ได้รับการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนให้เริ่มลงทุนจริงให้ได้ภายในปีนี้ประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท ซึ่งตรงนี้ก็จะทำงานร่วมกับบีโอไออย่างใกล้ชิดเพื่อให้นักลงทุนกลับเข้ามาลงทุนในไทยให้เร็วที่สุด เพื่อเพิ่ม GDP ได้ได้ตามเป้าหมาย

พร้อมกันนี้ รองนายกฯ และ รมว.กค. ได้กล่าวถึงปัญหาราคาปาล์มตกต่ำว่า ผลผลิตของปาล์มแต่ละครั้งมีผลผลิตมากน้อยต่างกันซึ่งจำนวนผลผลิตที่ออกมาจะส่งผลต่อราคาด้วย ซึ่งวงจรที่เกิดขึ้นเมื่อผลผลิตปาล์มออกชาวสวนก็จะนำมาขายให้พ่อค้าคนกลางและพ่อค้าคนกลางนำไปข่ายต่อให้โรงสกัด (CPO) ก่อนส่งต่อไปให้โรงกลั่น (B100) และ ผู้รับซื้อรายใหญ่ตามมาตรา 7 แต่เนื่องจากโรงกลั่น (B100) มีกำลังการกลั่น 7 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่ผู้รับซื้อรายใหญ่ตามมาตรา 7 มีความต้องการ 4 ล้านลิตรต่อวัน ดังนั้น ปริมาณการผลิตมีมากกว่าความต้องการ กดดันให้ราคา B100 ต่ำกว่าราคาประกาศ ทั้งนี้เดือนที่ผ่านมาราคาปาล์มอยู่ที่ 3.70-3.80 บาท ซึ่งต้องมีการพูดคุยกันว่าใครจะเป็นคนซื้อ B100 ซึ่งมีราคาประกาศโดย สนพ. โดยเป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้ซื้อจะต่อราคาก็ขอให้ช่วยพิจารณาดูตรงนี้ ถือเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรเพราะปาล์มถือเป็นพืชพลังงาน รวมทั้งระยะยาวเรื่องของสินค้าเกษตรเกือบทุกชนิดจะมีการพิจารณาปรับไปสู่สินค้าที่มีคุณค่าไม่ใช่ว่านำมาทำพลังงานอย่างเดียว ทั้งนี้ระยะสั้นอยากเห็นผู้รับซื้อรายใหญ่ตามมาตรา 7 สามารถคุยกับเจ้าของโรงกลั่น (B100) เพื่อให้เป็นราคาที่ใกล้เคียงกับราคาประกาศหรือได้ในราคาประกาศ ตรงนี้หาก B100 ขึ้น  CPO ก็จะขึ้นด้วย และหากควบคุมการซื้อขายปาล์มได้ก็จะทำให้ราคาปาล์มขึ้นไปอยู่ที่ 5 บาทได้  โดยจะมีการหารือของ 3  กระทรวง คือ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพลังงาน ซึ่งจะมีการหารือกับผู้รับซื้อรายใหญ่ตามมาตรา 7 เพื่อให้ได้แนวทางแก้ปัญหาและการดำเนินการลงตัวที่สุด

รองนายกฯ และ รมว.กค. กล่าวถึงการแก้ปัญหาแรงงานที่ต้องการเข้าสู่ตลาดแรงงานว่า ข้อมูลกระทรวงแรงงานรายงานขณะนี้ในช่วง 5 เดือนแรก มีผู้ประกันตนที่ว่างงาน 3.5 แสนคน โดยกลับสู่ระบบการจ้างงาน 1.7 แสนคน ซึ่งคนที่ยังไม่เข้าสู่ระบบการจ้างงาน 1.7 แสนคนบวกกับนักศึกษาจบใหม่ประมาณ 5 แสนคน ทำให้มีจำนวนแรงงานที่ต้องการทำงานประมาณ 6 – 7 แสนคน ทำให้ตำแหน่งงานว่างมีไม่เพียงพอ ขาดอีกประมาณ 1 – 2 แสนตำแหน่ง อย่างไรก็ตามกรณีคนที่ตกงานนั้น บางรายก็ไปประกอบอาชีพส่วนตัว และบางส่วนก็ไปทำงานที่ต่างประเทศ ทั้งนี้กระทรวงแรงงานก็จะไปดูในส่วนที่ยังมีตำแหน่งงานว่างกับจำนวนแรงงานที่ต้องการทำงานให้เกิดความสมดุลกัน

Advertisement
The Xpozir

รวมทั้งที่ประชุมยังให้ความสำคัญกับการ Upskill กำลังคน โดยเฉพาะการพัฒนากำลังคนด้าน Semiconductor เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศและการลงทุนของนักลงทุนที่จะมาลงทุนในประเทศไทย รวมถึงการเตรียมพร้อมด้านพลังงานสีเขียว ทั้งนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนด้าน Semiconductor โดยการดำเนินการให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการที่จะมาลงทุนในประเทศด้วย พร้อมทั้งการทำงานร่วมกับต่างประเทศในการที่จะหาที่ฝึกงานรองรับนักศึกษาของไทยในการพัฒนากำลังคน เช่น มหาวิยาลัยไทยส่งนักศึกษาไป Internship ที่มหาวิทยาลัยไต้หวันในด้าน Semiconductor

นอกจากนี้ รองนายกฯ และ รมว.กค. ได้ย้ำถึงมาตรการด้านการท่องเที่ยวโดยการกระตุ้นการท่องเที่ยวช่วง Low Season ซึ่งเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งเป็นมาตรการที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง รวมถึงกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศ ประกอบด้วย 2 มาตรการ 1. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล) เช่น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำรายจ่ายค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องในการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือค่าบริการของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์เพื่อการอบรมสัมมนาดังกล่าว ที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 หักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ฯลฯ โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษี ได้แก่ 1) สามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในจังหวัดท่องเที่ยวรอง หรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 2) สามารถหักรายจ่ายได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในท้องที่อื่นนอกจากท้องที่ตามข้อ 1. และ 3) ในกรณีที่การจัดอบรมสัมมนาครั้งหนึ่ง ๆ เกิดขึ้นในท้องที่ ตามข้อ 1) และข้อ 2) ต่อเนื่องกัน ให้หักรายจ่ายที่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใด ตามข้อ 1) หรือข้อ 2) แล้วแต่กรณี และให้หักรายจ่ายที่ไม่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใดได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง และ 2. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา)


Advertisement
Leaderboard 728x90
Advertisement
Billboard