Advertisement
Leaderboard 728x90

รมว.อุตสาหกรรม นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำทีมคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น มุ่งต่อยอดความร่วมมือแลกเปลี่ยนกรอบการทำงาน (Cooperation Framework) กับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น (METI) มุ่งเน้นการดำเนินงานร่วมกัน พร้อมเข้าร่วมประชุมหารือกับองค์กรด้านการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานฮาลาลของประเทศญี่ปุ่น (JAHADEP) เพื่อชักจูงการลงทุนอุตสาหกรรมฮาลาลในประเทศไทย คาดมีนักลงทุนญี่ปุ่นสนใจร่วมลงทุนราว 800 ราย และจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท

นางสาวพิมพ์ภัทรา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ประเทศไทยและญี่ปุ่นถือเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของกันและกันมาอย่างยาวนานและปัจจุบันญี่ปุ่นก็ยังคงเป็นประเทศที่มีสัดส่วนมูลค่าการลงทุนในประเทศเป็นอันดับ 1 ดังนั้นจึงต้องการเน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือระหว่างกันในการพัฒนาอุตสาหกรรมซึ่งทั้งสองประเทศ เพื่อรองรับและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจจากกระแสการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่กำลังอยู่ในความสนใจของผู้คนทั่วโลก อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และอุตสาหกรรมการแพทย์และการดูแลสุขภาพ ล่าสุดเพื่อเป็นการร่วมกันขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตและก้าวทันยุคสมัย กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงนามความร่วมมือระหว่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง มีการแลกเปลี่ยนกรอบการทำงานระหว่างกัน2 ฉบับ ในปี 2018 และ 2022 ที่มุ่งเน้นการยกระดับภาคอุตสาหกรรมสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมของไทยและต่อยอดการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย รวมถึงกระตุ้นการเติบโตและสร้างห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็งแก่ภาคอุตสาหกรรมไทย – ญี่ปุ่น

Advertisement
อ่าวขนอม ซีฟู้ด

โดยการเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ รมว.อุตสาหกรรมและคณะ ได้เข้าเยี่ยมคารวะ นายไซโตะ เคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม เพื่อหารือแนวทางการต่อยอดความร่วมมือพร้อมแลกเปลี่ยนกรอบการทำงาน ฉบับใหม่ระหว่างกัน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาใน 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อรองรับการขยายตัวในภาคการผลิต โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ 2) การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งรวมทั้งในระหว่างกระบวนการผลิตและในนิคมอุตสาหกรรม 3) การเสริมสร้างความสามารถในการฟื้นตัวของห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงการส่งเสริมมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการลดปริมาณของเสียหรือชิ้นส่วนจากยานยนต์ (End-of –Life Vehicle) และ 4) การพัฒนาพลังงานสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้ไทยยังคงเป็นฐานการผลิตและส่งออกยานยนต์สมัยใหม่แห่งภูมิภาค

พร้อมกันนี้ ยังได้หารือกับ 2 องค์กรพันธมิตรสำคัญ ได้แก่ องค์การเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและนวัตกรรมภูมิภาคแห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ) มุ่งเน้นการเชื่อมโยงและขยายเครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย – ญี่ปุ่น รวมทั้งยกระดับการบ่มเพาะ พัฒนาสร้างเครือข่ายสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเชิงลึก การแพทย์ สิ่งแวดล้อม และอวกาศ นอกจากนี้ ยังได้เข้าหารือกับองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (NEDO) โดยร่วมกันวางกรอบแนวทางความร่วมมือไว้ 4 กิจกรรม คือ 1) โครงการการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 2) โครงการพัฒนารถบัส รถบรรทุก และรถฟอล์คลิฟต์ ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนเพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมตามนิคมอุตสาหกรรม 3) โครงการ CCUS หรือการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ 4) โครงการรีไซเคิลมอเตอร์รถยนต์ไฟฟ้า

ขณะเดียวกัน ยังได้หารือกับองค์กรด้านการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานฮาลาลของประเทศญี่ปุ่น (JAHADEP) เพื่อการขยายความร่วมมือกับอุตสาหกรรมฮาลาลของญี่ปุ่นให้เกิดการลงทุนในประเทศไทยและใช้ประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์ด้านวัตถุดิบของไทย เพื่อเป็นฐานการผลิตและส่งออกอาหารญี่ปุ่นฮาลาลไปสู่ตลาดที่มีศักยภาพ ตามแนวคิดครัวไทยสู่ครัวโลก คาดว่าจะมีเอกชนสนใจมาลงทุนในประเทศไม่ต่ำกว่า 800 ราย และจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่างไทยและญี่ปุ่น ด้วยการต่อยอดและขยายผลกรอบการทำงาน (Framework) ฉบับใหม่ ระหว่าง กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม เพื่อเป็นการขยายความร่วมมือและสร้างโอกาสให้กับอุตสาหกรรมไทยภายังใต้แนวนโยบาย DIPROM Connection

Advertisement
The Xpozir

“โดยความร่วมมือในครั้งนี้ เน้นให้อุตสาหกรรมปรับตัวเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงในบริบทต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาองค์ความรู้ของบุคลากรผู้ปฏิบัติงานผ่านการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่าง ๆ เช่น Robotic, IoT, Automation เป็นต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตและการจัดการ รวมทั้งการยกระดับกระบวนการผลิตทั้งระบบสู่แนวทางอุตสาหกรรมสีเขียว ทั้งในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และนำกลับมาใช้ใหม่ และการพัฒนาพลังงานทางเลือกสำหรับยานยนต์สมัยใหม่ การรีไซเคิล – อัพไซเคิล วัสดุต่าง ๆ อย่างครบวงจร โดยเฉพาะซากยานยนต์ที่มีเพิ่มขึ้นโดยตลอด ซึ่งมาตรการเหล่านี้เป็นไปตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนและเปรียบได้กับบัตรผ่านทางสู่เวทีโลกในอนาคต” นายภาสกร กล่าว


Advertisement
Leaderboard 728x90
Advertisement
Billboard