Advertisement
Leaderboard 728x90

บอร์ด รฟม.ไฟเขียวลดค่าโดยสารสีม่วง เหลือ 20 บาท คาดเริ่ม 1 ธ.ค.66 นี้

ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. มีมติเห็นชอบในแนวทางการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) 20 บาท ตลอดสาย โดยเริ่มต้นที่ 14 บาท สูงสุด 20 บาท รวมถึงหลักการกำหนดส่วนลดการเปลี่ยนถ่ายระบบระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายอื่นๆ เริ่มที่ สายสีแดง ซึ่งจะเปลี่ยนถ่ายที่สถานีบางซ่อน โดยคาดว่าเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. ที่มีนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นประธานวันที่ 28 ก.ย. 2566 มีมติเห็นชอบในแนวทางการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) 20 บาท ตลอดสาย โดยเริ่มต้นที่ 14 บาท สูงสุด 20 บาท รวมถึงหลักการกำหนดส่วนลดการเปลี่ยนถ่ายระบบระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายอื่นๆ เริ่มที่ สายสีแดง ซึ่งจะเปลี่ยนถ่ายที่สถานีบางซ่อน โดยคาดว่าเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป

Advertisement
Kreamy Proof

หลังจากนี้ รฟม.จะเสนอไปกระทรวงคมนาคมเพื่อรวมกับแนวทางการลดค่าโดยสารรถไฟชานเมืองสายสีแดง เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนต่อไป

ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อสายสีม่วงลดค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย จะทำให้รายได้ลดลงประมาณ 190 ล้านบาท/ปี หรือคิดเป็น 60% ของรายได้เฉลี่ยปัจจุบัน โดย รฟม.จะใช้รายได้ที่นำส่งคลังปีละประมาณ 300-400 ล้านบาทมาดำเนินการชดเชย นอกจากนี้ ได้ประเมินผลกรณีลดค่าโดยสารเหลือ 20 บาท จะทำให้ประชาชนหันมาใช้รถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้รถยนต์ ลดเวลาในการเดินทาง ประเมินค่าความสุขที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ลดการสูญเสียประเทศทางถนนและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม คิดเป็นมูลค่าประมาณ 900 ล้านบาท/ปี

คาดว่า สายสีม่วง จะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นประมาณ 17% หรือ 10,000 คน-เที่ยว/วัน โดยปัจจุบันสายสีม่วงมีผู้โดยสารเฉลี่ย 56,000 คน-เที่ยว/วัน ก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 66,000 คน-เที่ยว/วัน สำหรับผู้โดยสารเปลี่ยนถ่ายระบบที่สถานีบางซ่อนปัจจุบันมีไม่มาก ประมาณ 100-200 คน/วัน คาดว่าอาจจะเพิ่มขึ้นหลังจากลดเหลือ 20 บาท

“สายสีม่วงมี 16 สถานี ผู้โดยสารจะเดินทางเฉลี่ยประมาณ 8 สถานี มีค่าโดยสารเฉลี่ยที่ 23 บาท การลดเหลือ 20 บาท เท่ากับรายได้หายไป 3 บาท ซึ่ง รฟม.จะประเมินในระยะ 1 ปีว่ามีผลตอบรับแค่ไหน ซึ่งหากผู้โดยสารโตปีละ 17% คาดว่าจะใช้เวลา 4-5 ปีรายได้จะกลับมาเท่าเดิม”

Advertisement
The Xpozir

ปัจจุบัน รฟม.มีรายได้จากส่วนแบ่งค่าตอบแทนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 15% โดยปี 67 ประเมินที่ 3,600 ล้านบาท ปี 68 ที่ 4,800 ล้านบาท มีรายได้ค่าโดยสารสายสีม่วง ประมาณ 500 ล้านบาท/ปี และรายได้อื่นๆ โดยนำส่งรายได้เข้าคลังจาก 20-25% ของ
กำไรสุทธิ ซึ่งปี 65 ส่งรายได้เข้าคลัง 311 ล้านบาท ส่วนปี 66 รอบ 6 เดือน นำส่งรายได้เข้าคลังแล้ว 223 ล้านบาท

สำหรับการจัดเก็บค่าโดยสารสายสีม่วงตามนโยบาย 20 บาทตลอดสาย มีรายละเอียดดังนี้

1. กำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง เป็นสูงสุดไม่เกิน 20 บาท (จากอัตราค่าโดยสารปัจจุบัน สูงสุด 42 บาท) ตลอดระยะเวลาเปิดให้บริการ (05.30-24.00 น.) ทั้งนี้ เด็ก/ผู้สูงอายุ จะได้รับส่วนลด 50% และนักเรียน/นักศึกษา จะได้รับส่วนลด 10% จากอัตราค่าโดยสารใหม่

2. การเดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ผู้โดยสารยังคงได้รับส่วนลดการเปลี่ยนถ่ายระบบในอัตราปัจจุบัน

3. การเดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และรถไฟชานเมืองสายนครวิถี (สายสีแดง) (ของการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท.) กำหนดอัตราค่าโดยสารของทั้ง 2 สาย สูงสุดไม่เกิน 20 บาท โดยจะต้องเปลี่ยนถ่ายระบบ ณ สถานีบางซ่อน ภายในระยะเวลา 30 นาที และใช้บัตรโดยสารใบเดียวกัน โดยใช้บัตร EMV

4. การเดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และรถไฟฟ้า MRT สายสีชมพู ผู้โดยสารจะได้รับส่วนลดเมื่อเปลี่ยนถ่ายระบบ ณ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ภายในระยะเวลา 30 นาที และใช้บัตรโดยสารใบเดียวกัน

ทั้งนี้ ปัจจุบัน รฟม.ยังอยู่ระหว่างติดตามตรวจสอบความพร้อมและความเหมาะสมในภาพรวมทั้งหมดของโครงการรถไฟฟ้า MRT สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ก่อนกำหนดวันเปิดให้ประชาชนร่วมทดลองโดยสารฟรี และกำหนดวันเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ซึ่ง รฟม.จะประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ชัดเจนให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป


Advertisement
Leaderboard 728x90
Advertisement
Billboard