Advertisement
Leaderboard 728x90

ครม.มติเห็นชอบการปรับปรุงแก้ไขความตกลงว่าด้วยน้ำตาลระหว่างประเทศ

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการปรับปรุงแก้ไขความตกลงว่าด้วยน้ำตาลระหว่างประเทศ (International Sugar Agreement: ISA) (ความตกลง ISA) ฉบับปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) รวมทั้งให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เป็นผู้ลงนามในตราสารการยอมรับการแก้ไขเพิ่มเติมความตกลง ISA ฉบับปี พ.ศ. 2535  (ค.ศ. 1992) ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ

เรื่องเดิม

Advertisement
อ่าวขนอม ซีฟู้ด

1. คณะรัฐมนตรีมีมติ (26 มกราคม 2531) อนุมัติให้ประเทศไทยสมัครเข้าเป็นภาคีความตกลง ISA ฉบับปี พ.ศ. 2530 (ค.ศ. 1987) และมอบหมายให้ กต. ดำเนินการสมัครเข้าเป็นภาคีความตกลงดังกล่าว โดยการภาคยานุวัติภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2531 [ความตกลง ISA ฉบับปี พ.ศ. 2530 (ค.ศ. 1987) สิ้นสุดลงเมื่อวันที่      31 ธันวาคม 2535]

2. คณะรัฐมนตรีมีมติ (8 ธันวาคม 2535) ให้ส่งเรื่องการสมัครเข้าเป็นภาคีความตกลง ISA ฉบับปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) ให้คณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจพิจารณาก่อน และให้ อก. เสนอข้อมูลผลการดำเนินงานที่ผ่านมาในการที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีความตกลง ISA ฉบับปี พ.ศ. 2530 (ค.ศ. 1987) ผลดีผลเสีย หรือผลประโยชน์ที่ได้รับเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ และหากประเทศไทยไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกต่อไปจะมีผลกระทบอย่างใด รวมทั้งภาระผูกพันที่ประเทศไทยจะต้องปฏิบัติตามในฐานะภาคีความตกลง ISA เพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย

3. คณะรัฐมนตรีมีมติ (22 ธันวาคม 2535) เห็นชอบในหลักการให้ประเทศไทยแสดงความจำนงที่จะเข้าเป็นภาคีความตกลง ISA ฉบับปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) และใช้บังคับความตกลงดังกล่าวเป็นการชั่วคราวก่อน และให้ กต. ดำเนินการเข้าเป็นภาคีความตกลงดังกล่าวโดยสมบูรณ์ในโอกาสที่เหมาะสม ตามที่ อก. เสนอ ตามมติคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ [ความตกลง ISA ฉบับปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) มีผลใช้บังคับโดยสมบูรณ์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2536 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2538 เว้นแต่จะได้รับการขยายออกไปอีก หรือสิ้นสุดก่อนกำหนดเวลาก็ได้ ทั้งนี้ ความตกลง ISA ฉบับนี้มีบทบัญญัติเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องการบริหารเท่านั้น ไม่มีบทบัญญัติอันเป็นภาระผูกพันในเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจฯ

สาระสำคัญ
กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการปรับปรุงแก้ไขความตกลงว่าด้วยน้ำตาลระหว่างประเทศ (International Sugar Agreement: ISA) ฉบับปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติ (22 ธันวาคม 2535) เห็นชอบในหลักการให้ประเทศไทยแสดงความจำนงที่จะเข้าเป็นภาคีความตกลงดังกล่าวแล้ว และให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามในตราสารการยอมรับการแก้ไขเพิ่มเติมความตกลงดังกล่าว ซึ่งจะต้องแจ้งผลการพิจารณาภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 โดยความตกลงดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นเพียงการกำหนดเกี่ยวกับการบริหารจัดการและการปฏิบัติงานของประเทศสมาชิกอำนาจ หน้าที่ รวมถึงองค์ประกอบการประชุมต่าง ๆ ภายใต้องค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ ซึ่งองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศจะต้องทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลทางสถิติและการศึกษาการผลิต ราคา การส่งออกและนำเข้า การบริโภค และสต๊อกน้ำตาลของน้ำตาลและสารให้ความหวานอื่น ๆ ซึ่งเป็นบทบัญญัติทางด้านบริหารเท่านั้น ไม่มีบทบัญญัติทางด้านเศรษฐกิจ กฎข้อบังคับผูกพันในเรื่องโควตาการส่งออกและระบบการเก็บสต๊อกพิเศษแต่อย่างใด ประเทศสมาชิกสามารถส่งออกได้โดยเสรี ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว การแก้ไขความตกลงดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 โดยการปรับปรุงแก้ไขในครั้งนี้ก็เป็นเพียงการปรับปรุงแก้ไขเกี่ยวกับบทบัญญัติเฉพาะทางด้านบริหาร ดังนี้

Advertisement
The Xpozir

1) นิยามของ “น้ำตาล” ให้ครอบคลุมถึงสารให้ความหวานพลังงานชีวภาพ เชื้อเพลิงเอทานอลและไบโอรีไฟเนอรี เนื่องจากปัจจุบันอุตสาหกรรมน้ำตาลมีความเกี่ยวข้องกับสารให้ความหวาน พลังงานชีวภาพ เชื้อเพลิงเอทานอลและไบโอรีไฟเนอรีมากขึ้น หรืออาจรวมไปถึงผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในอนาคต รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขขอบเขตความร่วมมือขององค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ (International Sugar Organization: ISO) ให้ครอบคลุมถึงนิยามที่ปรับแก้ข้างต้นด้วย (ปรับแก้ข้อ 1 วัตถุประสงค์ ข้อ 32 การให้ข้อมูลเพื่อศึกษา ข้อ 33 ข้อมูลทางสถิติ      การบริโภคและแนวโน้มตลาดน้ำตาล ข้อ 34 การวิจัยและการพัฒนาของความตกลง ฉบับปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992)]

2) วาระการดำรงตำแหน่งของผู้อำนวยการบริหารในองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ เพื่อให้การดำรงตำแหน่งของผู้อำนวยการมีความชัดเจนและโปร่งใสจากเดิมที่ไม่ได้มีการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งที่ชัดเจน รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขการคำนวณโหวต และค่าสมาชิกของประเทศสมาชิก เพื่อให้การคำนวณโหวตมีความทันสมัยและเป็นปัจจุบันมากขึ้นบนพื้นฐานสัดส่วนการส่งออก การนำเข้า การผลิต การบริโภคน้ำตาลทรายและความสามารถในการจ่ายเงินของประเทศสมาชิกในอัตราส่วนที่เท่า ๆ กัน จากเดิมที่คำนวณเฉพาะการส่งออกและนำเข้าในตลาดเสรีและตลาดพิเศษ [ปรับแก้ข้อ 23 การแต่งตั้งผู้อำนวยการบริหารและเจ้าหน้าที่ในองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ และข้อ 25 การคำนวณโหวตและค่าสมาชิกของประเทศสมาชิกของความตกลง ฉบับปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992)]

ซึ่งการแก้ไขปรับปรุงความตกลงข้างต้นไม่มีประเด็นใดที่ขัดต่อกฎข้อบังคับหรือข้อผูกพันเกี่ยวกับปริมาณโควตาการนำเข้าและส่งออกน้ำตาลของประเทศไทยตามพันธกรณีที่ได้ผูกพันไว้กับองค์การการค้าโลก (WTO) รวมทั้งมิได้มีบทบัญญัติที่ขัดต่อกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่มีอยู่ในปัจจุบัน


Advertisement
Leaderboard 728x90
Advertisement
Billboard